จังหวัดบุรีรัมย์
บุรีรัมย์ ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรืออีสานตอนล่าง มีเนื้อที่ประมาณ 10,321.885 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ทางรถยนต์ประมาณ 410 กิโลเมตร และทางรถไฟประมาณ 376 กิโลเมตร
บุรีรัมย์เป็นเมืองแห่งความรื่นรมย์ตามความหมายของชื่อเมือง เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยสำหรับคนในท้องถิ่น และเป็นเมืองที่น่ามาเยือนสำหรับคนต่างถิ่น จังหวัดบุรีรัมย์มากมีไปด้วยปราสาทหินใหญ่น้อย อันหมายถึงความรุ่งเรืองมาแต่อดีต จากการศึกษาของนักโบราณคดีพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวาราวดี และที่สำคัญที่สุดพบกระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดบุรีรัมย์ คือ หลักฐานทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณ ซึ่งมีทั้งปราสาทอิฐและปราสาทหินเป็นจำนวนมากกว่า 60 แห่ง รวมทั้งได้พบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ เตาเผาภาชนะดินเผา และภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่า เครื่องถ้วยเขมร ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-18 อยู่ทั่วไป หลังจากสมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของบุรีรัมย์เริ่มมีขึ้นอีกครั้งตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา และปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ บุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมืองๆ หนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ จึงได้ชื่อเป็นจังหวัดบุรีรัมย์มาจนถึงปัจจุบันนี้
ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดขอนแก่น และมหาสารคาม
ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดปราจีนบุรีและเทือกเขาพนม มาลัย ซึ่งกั้นเขตแดน ระหว่างไทยกับกัมพูชาประชาธิปไตย
ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดนครราชสีมา
แหล่งท่องเที่ยว
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำที่มีนกน้ำอาศัยอยู่มาก เช่น นกยาง นกอีโก้งและนกเป็ดน้ำ ที่ย้ายถิ่นเข้ามาในฤดูหนาว จึงเหมาะสำหรับดูนก
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีศาลาให้นั่งพักผ่อนและชมทิวทัศน์
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน อ่างเก็บน้ำที่มีทิวทัศน์สวยงาม และเป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำจำนวนมาก ในช่วงฤดูหนาวจะมีนกเป็ดน้ำอพยพเข้ามามากกว่าอ่างเก็บน้ำแห่งอื่น จึงเป็นแหล่งดูนกที่โดดเด่น
เขื่อนลำนางรอง บริเวณใกล้สันเขื่อนมีพื้นที่สาดลงสู่ทะเลสาบคล้ายชายหาด มีน้ำใส่สะอาด บรรยากาศเย็นราวกับชายทะเลเป็นที่นิยมเล่นน้ำและพักผ่อนชมทิวทัศน์
เตานายเจียน เป็นเตาเผาเครื่องเคลือบโบราณที่มีอายุกว่าพันปีกรมศิลปากรได้สร้างอาคารล้อมรอบไว้ ภายในมีหุ่นจำลองและแผนผังประกอบ
ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทหินขนาดใหญ่ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐเรียงสองแถวรวม 5 องค์ล้อมรอบด้วยกำแพง ซุ้มประตู และระเบียงคด
ปรางค์กู่สวนแตง เทวาลัยในศาสนาฮินดูสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ประกอบด้วย ปรางค์อิฐสามองค์ตั้งเรียงกันอยู่บนฐานศิลาแลง
พิพิธภัณฑ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์วัดป่าพระสบาย D6 บริเวณนี้มีการขุดพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ จึงได้สร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดง มีทั้งเครื่องใช้ยุคหิน เครื่องปั้นดินเผา และโครงกระดูก
วนอุทยานเขากระโดง เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วรอบบริเวณแวดล้อมด้วยแมกไม้ร่มรื่น เป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองบุรีรัมย์ บนเขายังมีโบราณสถานสมัยขอม รอยพระพุทธบาทจำลองและพระสุภัทรบพิตรพระพุทธรูปสีขาวองค์ใหญ่ที่ชาวบ้านเคารพสักการะ
ศูนย์วัฒนธรรม อ. บ้านกรวด (08.30-16.00) สถานที่จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่ขุดพบในอำเภอบ้านกรวด ส่วนใหญ่เป็นภาชนะเครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อแกร่งเคลือบสีแต่ละชิ้นมีรูปทรงและสีสันสวยงาม
อุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้ง (06.00-18.00) ปราสาทหินที่งดงามที่สุดของไทยสร้างด้วยหินทรายสีชมพูและศิลาแลงอย่างอลังกา ศาสนสถานแต่ละส่วนประดับด้วยลวดลายจำหลักวิจิตรงดงาม โดยเฉพาะหน้าบันศิวะนาฏราชและทัยหลังนารายณ์บรรทมสินธุ
ที่กิน
ชื่อร้านอาหาร โทรศัพท์ อาหารแนะนำ
ไก่ย่างอาก๋งวังเฟื่องฟ้า(06.00-21.00) 04449192930 ไก่ย่างยาจีน
ครัวป้าอุ (08.00-22.00) - ปลานิลอิงสวน
เวียงจันทร์(08.00-20.00) 044620254 ไส้กรอกอีสาน
ลักษณา(08.00-20.30 044631158 ขาหมูตุ่นยาจีน
สามสร(09.00-20.00) 044689047 แป๊ะชะแห้ง
ที่ซื้อของ
ชื่อร้าน โทรศัพท์ สินค้าแนะนำ
แม่พะนอ(06.00-20.00) 044671464 กุ้งจ่อม
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอต่างๆ
อำเภอห้วยราช 10 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอบ้านด่าน 17 กิโลเมตร
อำเภอกระสัง 30 กิโลเมตร
อำเภอลำปลายมาศ 31 กิโลเมตร
อำเภอคูเมือง 34 กิโลเมตร
อำเภอโนนสุวรรณ 40 กิโลเมตร
อำเภอพลับพลาญชัย 40 กิโลเมตร
อำเภอสตึก 40 กิโลเมตร
อำเภอประโคนชัย 44 กิโลเมตร
อำเภอนางรอง 55 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอแคนดง 59 กิโลเมตร
อำเภอหนองหงส์ 60 กิโลเมตร
อำเภอพุทไธสง 64 กิโลเมตร
อำเภอบ้านกรวด 66 กิโลเมตร
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ 70 กิโลเมตร
อำเภอชำนิ 70 กิโลเมตร
อำเภอปะคำ 78 กิโลเมตร
อำเภอนาโพธิ์ 80 กิโลเมตร
อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ 80 กิโลเมตร
อำเภอหนองกี่ 83 กิโลเมตร
อำเภอโนนดินแดง 92 กิโลเมตร
อำเภอละหานทราย 99 กิโลเมตร